เมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน 2566 ณ ข่วงวัฒนธรรมท่าน้ำวัดรมณียาราม (กู่ละมัก) หมู่ 4 ต.ต้นธง อ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน เทศบาลตำบลต้นธง ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน สภาวัฒนธรรม จ.ลำพูน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรมการประกวด และการแข่งขันกิจกรรมต่างๆ ในงาน ประเพณีลอยโขมด ครั้งที่ 9 ประจำปี 2566 (หนึ่งเดียวในล้านนา หนึ่งเดียวในโลก) โดยมีนายวิชัย บุญอุดมพร รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ให้เกียรติเป็นประธานพิธีเปิด
ว่าที่ร้อยเอก ปาลพล ตาปิง นายกเทศมนตรีตำบลต้นธง กล่าวว่า กิจกรรมการแข่งขันและการประกวด ในงานประเพณีลอยโขมด ครั้งที่ 9 มีกิจกรรมที่น่าสนใจหลายประเภท อาทิเช่น การประกวดซุ้มการแสดงศิลปวัฒนธรรมของแต่ละหมู่บ้าน ประกอบด้วยทำพระเจดีย์ทราย/การทำซุ้มประตูป่า/การแข่งขันประกวดทำอาหารพื้นเมืองเชิดชูอาหารถิ่น /กิจกรรมการประกวดโขมดเล็ก ประเภทเยาวชนและประชาชน กิจกรรมแข่งขันยิงหนังสติ๊ก
ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีภูมิปัญญาท้องถิ่น และได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชน การสืบทอด ประเพณีลอยโขมด และปลูกฝังให้กับเด็กเยาวชน และคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และถือปฏิบัติ พร้อมทั้งทำให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน และหน่วยงานต่างๆ ในชุมชน และ ท้องถิ่น เกิดความสามัคคีในชุมชน รวมทั้ง ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อ สร้างรายได้จากทุนทางวัฒนธรรม ชุมชน เพื่อสร้างมูลค่า ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน ให้มีความเข้มแข็ง อันส่งผลให้ ประชาชนมีสุขภาพจิตและสุขภาพกายที่ดีขึ้น
สำหรับในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 จะมีการประกวดขโมดหลวง ขบวนแห่ขโมดหลวง การประกวดแม่คู่ลูกชูวัฒนธรรม และพิธีเปิดงาน จึงขอเชิญชวนประชาชน นักท่องเที่ยว ร่วมงาน ณ วัดรมณียาราม (กู่ละมัก) หมู่ 4 ต.ต้นธง อ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน
ทั้งนี้ทั้งนี้ประเพณีลอยโขมดเป็นประเพณีที่ชาวบ้านต้นธง ต.ต้นธง อ.เมือง จ.ลำพูน รวมถึงชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง จัดขึ้นในช่วงยี่คืนวันเพ็ญในเดือนยี่เป็ง หรือเพ็ญเดือนสิบสอง ชาวบ้านจะมีการนำกาบกล้วยมาทำเป็นกระทงทรงกระโจมสำหรับใส่สิ่งของต่างๆ ลอยไปตามลำน้ำกวงบริเวณหน้าวัดรมณียาราม หรือวัดกู่ระมัก ในเวลากลางคืนพร้อมทั้งจุดเทียนไปในกระทงนั้นด้วย ทำให้เกิดแสงแวววาวกระทบกับผิวน้ำในคืนวันเพ็ญคล้ายกับดวงไฟของผีโขมด ซึ่งผีโขมดนี้ เป็นชื่อเรียก ผีป่า ที่ออกหากินในเวลากลางคืน มีพะเนียงไฟมองเห็นเป็นระยะอย่างผีกระสือ ชาวล้านนา จึงเรียกว่า ลอยโขมด
ประเพณีการลอยโขมดเชื่อว่ามีต้นเค้ามาจากตำนานจามเทววีวงศ์ พงศาวดารเมืองหริภุญไชย และชินกาลมาลีนี ที่แต่งขึ้นในสมัยล้านนา กล่าวถึงการลอย “ขาทนียโภชนียาหาร” ตามน้ำลงไปทางใต้ ในตำนานกล่าวถึงเหตุการณ์หลังจากพระเจ้ากมลราชกษัตริย์พระองค์หนึ่งในนครหริภุญไชย ได้เกิดโรคระบาด (อหิวาตกโรค) ชาวนครหริภุญไชยจึงได้ย้ายไปอาศัยอยู่เมืองสุธรรมนคร หรือเมืองสุธรรมวดี(สะเทิม) แล้วจึงย้ายไปอาศัยในเมืองหงษาวดีราว ๖ ปี ต่อมาเมื่อโรคระบาดหายแล้ว ชาวนครหริภุญไชยบางส่วนได้เดินทางกลับมายังที่เดิม บางส่วนก็สมัครใจที่จะอาศัยอยู่ในเมืองหงษาวดี เมื่อกลับมาแล้วต่างอาลัยถึงญาติพี่น้องที่อาศัยอยู่ทางนั้นจึงได้แต่งเครื่องสักการะลอยไปในแม่น้ำเพื่อเป็นการระลึกถึงชาวนครหริภุญไชยที่อาศัยอยู่หงษาวดี ในตำนานยังกล่าวไว้ด้วยว่าเป็นจารีตที่ปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน บางแห่งได้มีการทำเป็นรูปแบบของกระทงเป็นรูปสำเภา หรือสะเปา ในภาษาถิ่นภาคเหนือใส่เครื่องบูชาและจุดประทีบดวงไฟเช่นเดียวกัน